ศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 7
หลักการทำศาสนสัมพันธ์
เขียนโดย วรินทร เหมะ
บางคนอาจจะคิดว่าศาสนสัมพันธ์เป็นเรื่องง่าย ใคร ๆ ก็ทำได้ นึกอยากจะทำก็ทำได้ทันที บางคนอาจคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เรื่องนี้ยากมาก เป็นเรื่องที่จะต้องปะทะคารม ทำให้ผิดใจกันง่าย ๆ ควรหลีกเลี่ยงให้มาก จากแนวความคิดทั้งสองดังกล่าวก็เป็นความคิดและความรู้สึกที่แท้จริงในสังคม จากอดีตถึงปัจจุบัน การที่ไม่มี ศาสนสัมพันธ์ก่อให้เกิดผลเสียมากมายทั้งโลก รวมทั้งในประเทศไทยด้วย แต่ถ้าจู่ ๆ จะหันกลับมาทำศาสนสัมพันธ์โดยไม่มีการเตรียมตัวที่ดี แทนที่จะสร้างความสัมพันธ์อาจจะจุดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ได้อีก จึงจำเป็นที่จะต้องรู้หลักการที่ถูกต้อง และมีความรู้ความเข้าใจที่ดีพอสมควร จึงจะทำให้งานศาสนสัมพันธ์เจริญก้าวหน้าและเกิดผลดีแก่ทุกคน ขอแบ่งหลักการทำงานศาสนสัมพันธ์ไว้ 3 ขั้นตอน ดังนี้
1.ขั้นตอนการเสวนา
เตรียมจิตใจ
: มีความเข้าใจว่าพระศาสนจักรสอนและส่งเสริมให้ทำศาสนสัมพันธ์ โดยศึกษาพื้นฐานจากพระคัมภีร์คำสอนของพระศาสนจักร ดูแบบฉบับของผู้นำพระศาสนจักร
: เรียนรู้หลักของศาสนสัมพันธ์ที่ถูกต้อง ทั้งกระบวนการ วิธีการและเป้าหมาย
: เรียนรู้ศาสนาของตนเองให้ดี เป็นศิษย์ที่แท้ของศาสนาของตน
: เรียนรู้หลักคำสอนและพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมของศาสนาของคู่เสวนา เพื่อจะได้มีความรู้พอที่จะเริ่มต้นการเสวนาแสดงถึงความเอาใจใส่ผู้เสวนา ผู้ที่จะทำเสวนาต้องเรียนรู้ศาสนาอื่นๆเป็นคนใจกว้างและมีน้ำใจ
เตรียมความพร้อมภายนอก
: ทำตัวเองให้มีบุคลิกที่ดี การแต่งกายต้องสุภาพเรียบร้อยเป็นการให้เกียรติแก่คู่เสวนา น่าคบหา
: ปฏิบัติตามธรรมเนียม มีการติดต่อล่วงหน้า กำหนดเวลาและมาตามนัด มีของเยี่ยมของฝาก
: เตรียมหัวข้อหลากหลายในการเสวนาธรรม
การเตรียมจิตใจในทุกครั้งก่อนที่เราจะไปทำศาสนสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะต้องรู้เรา รู้จักศาสนาของตนให้ถ่องแท้ เพื่อนำไปตอบคำถามเวลาคู่เสวนาที่เขาสงสัยและอยากที่ซักถาม และเราต้องรู้เขา คือการรู้หลักคำสอนและพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมของคู่เสวนา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความเอาใจใส่ต่อคู่เสวนา สิ่งสำคัญคือ เราต้องเปิดใจ ใจกว้างในการรับรู้ และมีน้ำใจต่อคู่ที่เราเสวนาด้วยความจริงใจ สำหรับการเตรียมความพร้อมภายนอก เมื่อเรารู้ธรรมเนียมปฏิบัติเป็นอย่างดีแล้ว ในเรื่องบุคลิก การแต่งกาย การประสานงาน และเตรียมประเด็นที่เราไปเยี่ยมเยียนเขาที่ชัดเจนโปร่งใส่ การเสวนาก็จะไม่เป็นที่สะดุดอย่างแน่นอน