สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสโอกาสวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 39
สาส์นของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิสโอกาสวันเยาวชนโลก ครั้งที่ 39
24 พฤศจิกายน ค.ศ. 2024
“ผู้มีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย” (เทียบ อสย 40:31)
เยาวชนที่รัก
ปีที่แล้วพวกเราออกเดินทางบนเส้นทางของความหวังไปสู่การฉลองปีศักดิ์สิทธิ์ที่ยิ่งใหญ่ (Great Jubilee) ผ่านทางการไตร่ตรองคำของนักบุญเปาโลที่กล่าวว่า “จงชื่นชมยินดีในความหวัง” (รม 12:12) เพื่อที่จะเตรียมตัวของพวกเราสำหรับการเดินทางสู่ปีศักดิ์สิทธิ์ 2025 ปีนี้พวกเราได้รับแรงบันดาลใจจากประกาศกอิสยาห์ที่ กล่าวว่า “ผู้มีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า…จะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย” (อสย 40:31) ข้อความนี้ได้มาจากหนังสือบันทึกคำปลอบโยนประชากรอิสราเอล (อสย 40-55) ซึ่งประกาศถึงการสิ้นสุดการเนรเทศของชนชาติอิสราเอลในกรุงบาบิโลน และเป็นการเริ่มต้นยุคแห่งความหวังและการฟื้นฟูใหม่สำหรับประชากรของพระเจ้า ซึ่งคนนั้นสามารถกลับคืนสู่บ้านเกิดได้ด้วยความขอบคุณบน “ทางพิเศษ” สายใหม่ที่พระเจ้ากําลังเปิดให้บุตรธิดาของพระองค์ (เทียบ อสย 40:3)
วันนี้เราก็อาศัยอยู่ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ที่เลวร้าย ซึ่งก่อให้เกิดความสิ้นหวังและทำให้เราไม่สามารถมองไปยังอนาคตอย่างมีสันติสุข: โศกนาฏกรรมของสงคราม ความอยุติธรรมทางสังคม ความไม่เท่าเทียมกัน ความหิวโหย และการเอารัดเอาเปรียบทั้งต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ บ่อยครั้งผู้ที่ต้องแบกรับผลร้ายนี่อย่างมากที่สุดคือเยาวชน คุณสัมผัสได้ถึงความไม่แน่นอนของอนาคตและไม่แน่ใจว่าความฝันของคุณจะนำพาไปที่ใด ด้วยเหตุนี้ คุณอาจถูกล่อลวงให้ใช้ชีวิตโดยไร้ความหวัง เป็นเหมือนนักโทษที่หมดอาลัยตายอยาก ความซึมเศร้า และแม้กระทั่งหลงไปสู่พฤติกรรมที่เสี่ยง และทำลายตนเอง (เทียบ Spes Non Confundit, ข้อ 12) ด้วยเหตุนี้ เยาวชนที่รัก พ่อปรารถนาที่จะส่งสารแห่งความหวังมาถึงลูกๆ เหมือนที่เกิดขึ้นกับชนชาติอิสราเอลในกรุงบาบิโลน วันนี้พระเจ้าก็กำลังเปิดทางพิเศษไว้ต่อหน้าลูกๆ เช่นกัน และพระองค์เชิญชวนลูกๆ ให้เดินไปบนเส้นทางนั้นด้วยความยินดีและความหวัง”
1. การเดินทางแสวงบุญของชีวิตและความท้าทายต่างๆ
ประกาศกอิสยาห์พูดถึงการ “เดินโดยไม่เหน็ดเหนื่อย” ให้เราพิจารณาความจริงสองประการนี้: การเดิน และความเหน็ดเหนื่อย
ชีวิตของเราคือการเดินทางแสวงบุญ การเดินทางนั้นผลักดันให้เราก้าวข้ามขอบเขตของตนเอง เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาความสุข ชีวิตคริสตชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเดินทางแสวงบุญไปสู่พระเจ้า ความรอดพ้น และความสมบูรณ์ของสิ่งดีงามทุกประการ เป้าหมาย ความสำเร็จ และชัยชนะในชีวิตที่เป็นเพียงสิ่งชั่วคราวที่อาจให้ความพึงพอใจชั่วขณะ แต่ยังคงทิ้ง ความหิวโหยทางจิตวิญญาณไว้ เพราะเราถูกสร้างโดยผู้ที่ไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เรามีความปรารถนาโดยธรรมชาติในการแสวงหา สิ่งที่สูงส่ง (transcendence) และมีความกระตือรือร้นอย่างต่อเนื่องต่อการเติมเต็มความปรารถนาที่สูงขึ้นไปสู่ “สิ่งที่สูง ส่งกว่า” นั่นคือเหตุผลที่ข้าพเจ้ามักจะกล่าวกับพวกท่านว่า “การยืนมองชีวิตจากที่สูง” นั้นไม่เพียงพอสำหรับเยาวชนเช่นท่าน
อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องปกติที่เมื่อเราก้าวออกสู่การเดินทางด้วยความกระตือรือร้น สักวันหนึ่งเราจะเริ่มรู้สึก เหนื่อยล้า ในบางกรณี ความวิตกกังวลและความเหนื่อยล้าภายในเกิดจากแรงกดดันทางสังคม ความต้องการที่จะประสบความสำเร็จในระดับที่กำหนดในด้านการศึกษา การทำงาน และชีวิตส่วนตัวของเรา สิ่งนี้ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้ เราใช้ชีวิตเร่งรีบจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่งใน “ความเร่งรีบ” (activism) ที่ว่างเปล่า ทำให้วันของเราต้องเต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย และแม้จะทำเช่นนั้น เราก็ยังรู้สึกว่าสิ่งที่ทำนั้นยังเพียงพอ และยังคงไม่ดีพอ ความเหนื่อยล้านี้มักจะมาพร้อมกับความเบื่อหน่าย ความเฉื่อยชา และความไม่พอใจ สิ่งเหล่านี้ส่งผลทบต่อผู้ที่ไม่ยอมออกเดินทาง ไม่เลือก ไม่ตัดสินใจ ไม่เสี่ยงอะไรโดยชอบที่จะอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตนเองมากกว่า “ลงมือทำ” (dirtying their hands) ในการเผชิญปัญหา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับผู้อื่น หรือสัมผัสชีวิตอย่างแท้จริง ความเหนื่อยล้านี้เป็นเหมือนการที่เรายืนอยู่ในปูนซีเมนต์เปียกที่ยึดเราไว้ เมื่อแห้งแล้วก็จะแข็งตัว ทำให้เราเป็นอัมพาตขยับไปไหนไม่ได้ พ่อชื่นชมความเหนื่อยล้าของผู้ที่กำลังเดินหน้ามากกว่า ความเบื่อหน่ายของผู้ที่ยืนอยู่ที่เดิมโดยไม่มีความปรารถนาที่จะก้าวไปข้างหน้า!
วิธีแก้ความเหนื่อยล้าที่ดีที่สุดไม่ใช่การหยุดและพัก แต่คือการเริ่มต้นเดินทางและกลายเป็นผู้จาริกแห่งความหวัง นี่คือคำเชิญจากพ่อถึงเราทุกคน: จงเดินไปด้วยความหวัง! ความหวังสามารถเอาชนะความเหน็ดเหนื่อยทั้งหมด ทุกวิกฤตการณ์ และทุกความกังวล ความหวังนั้นเสริมพลังให้เราเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นของประทานที่เราได้รับจากพระเจ้า พระเจ้าทรงเติมเต็มความหมายในชีวิตของเรา ส่องสว่างบนเส้นทางของเรา และแสดงให้เราเห็นทิศทางและเป้าหมายที่สูงสุดของชีวิต นักบุญเปาโลใช้ภาพของนักกรีฑาที่กำลังวิ่งแข่งในสนามเพื่อที่จะได้รับรางวัลแห่งชัยชนะ (เทียบ 1คร 9:24) สำหรับใครก็ตาม ที่เคยเข้าร่วมการแข่งขันกีฬา–ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ชม แต่ในฐานะนักกีฬา–รู้ดีว่าต้องใช้พลังจากภายในมากเพียงใดเพื่อไปให้ถึงเส้นชัย ความหวังจึงเป็นพลังรูปแบบใหม่ที่พระเจ้าทรงใส่ไว้ในตัวเรา ทำให้เราสามารถยืนหยัดในการแข่งขัน มองข้าม ความยากลำบากในขณะนั้น และก้าวไปสู่เป้าหมายของการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับพระองค์และการได้รับชีวิตนิรันดรอย่าง เต็มเปี่ยม หากเป้าหมายที่สวยงามมีอยู่จริง หากชีวิตมีความหมายสูงสุด หากไม่มีสิ่งใดในสิ่งที่ฉันฝัน วางแผน และทำให้สำเร็จต้องสูญเสียไปอย่างสูญเปล่าแล้ว มันก็คุ้มค่าที่จะพยายามเดินต่อไป ก้าวข้ามอุปสรรคและความเหนื่อยล้า เพราะรางวัลสูงสุดนั้นยิ่งใหญ่เกินกว่าจะประเมินได้!”
2. แสวงบุญในทะเลทราย
ในการเดินทางแสวงบุญของชีวิต ย่อมมีความท้าทายที่ต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในอดีต การเดินทางแสวงบุญระยะไกลต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลของฤดูกาลและสภาพอากาศ มีทั้งการข้ามทุ่งหญ้าอันงดงามและป่าไม้อันเขียวขจี ร่วมทั้งภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะและทะเลทรายอันแห้งแล้ง แม้แต่ผู้ที่มีความเชื่อ การเดินทางแสวงบุญของชีวิตและการมุ่ง สู่เป้าหมายสูงสุดก็สามารถทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าได้ เช่นเดียวกับการเดินทางผ่านทะเลทรายไปยังดินแดนพันธสัญญาของชนชาติอิสราเอล
และสำหรับพวกคุณทุกคน! ผู้ที่ได้รับของประทานแห่งความเชื่อ ย่อมรู้ดีถึงช่วงเวลาที่มีความสุขเมื่อเราสัมผัสได้ถึงการประทับอยู่ของพระเจ้าและความใกล้ชิดของพระองค์ แต่ก็มีช่วงเวลาที่เราประสบกับแห้งแล้ง (อ้างว้าง) เช่นกัน ความกระตือรือร้นในช่วงเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำงาน หรือการติดตามพระคริสตเจ้า – ไม่ว่าจะในชีวิตสมรส ชีวิตสงฆ์ หรือชีวิตผู้ถวายตน – อาจตามมาด้วยช่วงเวลาวิกฤติที่ทำให้ชีวิตดูเหมือนการเดินทางที่ยากลำบากในทะเลทราย อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาแห่งวิกฤตนั้นไม่ได้สูญเปล่าหรือไร้ค่า: มันสามารถกลายเป็นช่วงเวลาที่สำคัญในการเติบโต นั่นคือช่วงเวลาที่ความหวังถูกชำระให้บริสุทธิ์! ในช่วงวิกฤตนั้น หลายๆ “ความหวัง” ที่ลวงตา ความหวังที่ไม่เพียงพอสำหรับหัวใจของเราจะจางหายไปเผยให้เห็นความเป็นจริง และเราจะพบกับคำถามที่สำคัญของชีวิตอย่างเดียวดาย โดยปราศจากความหลอกลวง และในช่วงเวลานั้น แต่ละคนสามารถถามตนเองได้ว่า: ความหวังที่เรายึดมั่นเพื่อใช้เป็นหลักในชีวิตของเราคืออะไร? มันคือความหวังที่แท้จริงหรือเพียงภาพลวงตา?”
ในเวลาเหล่านั้น พระเจ้าไม่ได้ทอดทิ้งพวกเรา แต่ทรงเข้ามาใกล้เราดั่งพ่อที่ห่วงใย และมอบอาหารที่ช่วยเติมเต็มพละกำลังของเราอย่างต่อเนื่องสำหรับการเดินทางต่อไป ขอให้เราระลึกว่าพระองค์ทรงประทานมานนาให้แก่ประชาการของพระองค์ในถิ่นทุรกันดาร (เทียบ อพย 16) และทรงประทานขนมปังและน้ำให้กับประกาศกเอลียาห์ที่เหน็ดเหนื่อยและท้อแท้ เพื่อให้เขาสามารถเดินทางต่อไปได้เป็นเวลาสี่สิบวันสี่สิบคืนจนถึงโฮเรบ ภูเขาของพระเจ้า (1พกษ 19: 3-8) เรื่องราวใน พระคัมภีร์เหล่านี้ ความเชื่อของพระศาสนจักรเห็นภาพลักษณ์ของของขวัญอันล้ำค่าของอัศวินีซึ่งเป็นมานาที่แท้จริง ความเชื่อของพระศาสนจักรมองเห็นเป็นการพยากรณ์ถึงของประทานอันล้ำค่าคือศีลมหาสนิท มานนาที่แท้จริง อาหารที่แท้จริงสำหรับการเดินทางที่พระเจ้าประทานให้แก่เราเพื่อค้ำจุนเราในเส้นทางแห่งชีวิต เหมือนที่บุญราศีคาร์โล อาคูติส กล่าวไว้ว่า ศีลมหาสนิทคือทางพิเศษไปสู่สวรรค์ คาร์โลทำให้ศีลหมาสนิทเป็นนัดหมายสำคัญในชีวิตประจำวันของเขา! ด้วยการร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้เป็นเจ้า เราจึงสามารถเดินไปโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อย เพราะพระองค์กำลังเดินอยู่เคียงข้างเรา (เทียบ มธ 28: 20) พ่อขอสนับสนุนให้ลูกทุกคนหันมาค้นพบของประทานอันยิ่งใหญ่แห่งศีลมหาสนิทอีกครั้ง!
ในช่วงเวลาแห่งความเหน็ดเหนื่อยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเดินทางแสวงบุญของเราในโลกนี้ ขอให้เราเรียนรู้ที่จะพักผ่อนเหมือนกับพระเยซูและในพระเยซู พระองค์ได้บอกกับสาวกของพระองค์ให้พักผ่อนหลังจากที่พวกเขากลับมาจากภารกิจ (เทียบ มก 6:31); พระองค์ยังทรงตระหนักถึงความต้องการของเราในการพักผ่อนทางร่างกาย มีเวลาสำหรับ การพักผ่อน สนุกสนานกับการอยู่กับเพื่อนๆ การเล่นกีฬา และการนอนหลับ อย่างไรก็ตาม ยังมีการพักผ่อนอีกประเภทหนึ่งที่ลึกซึ้งกว่านั้น นั่นคือการพักผ่อนทางด้านจิตวิญญาณ ซึ่งหลายคนแสวงหาแต่มีเพียงไม่กี่คนที่ค้นพบสิ่งนั้น เพราะมันพบได้ ในพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น จงตระหนักว่าความเหนื่อยล้าภายในทั้งหมดของท่านนั้นสามารถพบได้จากการพักผ่อนในองค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ตรัสกับท่านว่า “ท่านทั้งหลายที่เหน็ดเหนื่อยและแบกภาระหนัก จงมาพบเราเถิดเราจะให้ท่านได้พักผ่อน” (มธ 11:28) เมื่อความเหนื่อยล้าจากการเดินทางทำให้ลูกรู้สึกหนักอึ้ง จงกลับมาหาพระเยซู เรียนรู้ที่จะพักผ่อนในพระองค์และอยู่กับพระองค์ เพราะ “ผู้มีความหวังในองค์พระผู้เป็นเจ้า…เขาจะวิ่งและไม่เหน็ดเหนื่อย” (อสย 40:31)
3. จากนักท่องเที่ยวสู่ผู้จาริก
เยาวชนที่รัก พ่อขอเชิญชวนพวกลูกให้เริ่มต้นการเดินทางเพื่อค้นพบชีวิตบนเส้นทางแห่งความรัก และเพื่อแสวงหาพระพักตร์ของพระเจ้า คำแนะนำของพ่อคือ อย่าเริ่มต้นการเดินทางเพียงแค่ในฐานะนักท่องเที่ยว แต่จงเป็นผู้จาริกที่แท้จริง อย่าเป็นเหมือนนักท่องเที่ยวที่ชื่นชมแค่ผิวเผิน มองไม่เห็นความงดงามรอบตัว โดยไม่เคยค้นพบความหมายของเส้นทางที่ลูกเลือกเดิน สนใจเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อถ่ายภาพเซลฟี่เท่านั้น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทำแบบนี้ แต่ผู้จาริกนั้นแตกต่างออกไป เขาจะจุ่มตัวเองลงไปในสถานที่ที่พบเจอ ซึมซับสาระที่สถานที่เหล่านั้นต้องการสื่อสาร และทำให้เป็นส่วนหนึ่งของการแสวงหาความสุขและการเติมเต็มตนเอง การเดินทางแสวงบุญในปีศักดิ์สิทธิ์นี้ควรเป็นสัญลักษณ์ภายนอกของการเดินทางของชีวิตภายใน ซึ่งเราทุกคนถูกเรียกให้ก้าวไปสู่จุดหมายปลายทางของเรา
ด้วยเจตคติเหล่านี้ ขอให้เราทุกคนเตรียมตัวสำหรับปีศักดิ์สิทธิ์ พ่อมั่นใจว่าจะมีพวกลูกจำนวนมากที่สามารถมาร่วมแสวงบุญที่กรุงโรมเพื่อผ่านประตูศักดิ์สิทธิ์ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกคนสามารถที่จะแสวงบุญในพระศาสนจักรท้องถิ่นของตนเองได้ โดยการเยี่ยมชมโบสถ์และสักการสถานที่ดำรงไว้ซึ่งความเชื่อและการอุทิศตนของประชากรอันศักดิ์สิทธิ์และซื่อสัตย์ของ พระเจ้า พ่อหวังว่าการแสวงบุญในปีศักดิ์สิทธิ์นี้จะเป็น “ช่วงเวลาของการพบปะที่แท้จริงและเป็นส่วนตัวกับพระเยซูองค์ พระผู้เป็นเจ้า ผู้ทรงเป็น ‘ประตู’ แห่งความรอดพ้นของเรา” (Spes Non Confundit, ข้อ 1) ข้าพเจ้าขอส่งเสริมให้พวกลูก เข้าหาประสบการณ์นี้ด้วยเจตคติที่สำคัญสามประการ ประการแรกคือ การขอบพระคุณ ด้วยหัวใจที่เปิดกว้างเพื่อสรรเสริญพระเจ้าสำหรับของประทานมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระพรแห่งชีวิต ประการที่สองคือ จิตวิญญาณแห่งการแสวงหา ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความกระหายอันไม่สิ้นสุดในใจของเราเพื่อพบกับพระเจ้า และประการสุดท้ายคือ การเป็นทุกข์ถึงบาป ซึ่งช่วยให้เรามองเข้าไปภายในจิตใจ เพื่อยอมรับเส้นทางและการตัดสินใจที่ผิดพลาดในบางครั้งที่เราได้เลือก และด้วยวิธีนี้ เราจะกลับใจมาหาองค์พระผู้เป็นเจ้า และแสงสว่างแห่งพระวรสารของพระองค์
4. ผู้จาริกแห่งความหวังเพื่อพันธกิจ
พ่อขอฝากภาพภาพหนึ่งที่ชวนให้ลูกนึกถึงเพื่อเป็นแนวทางในการเดินทางของลูก ผู้ที่มาเยือนมหาวิหารนักบุญ เปโตรในกรุงโรมจะต้องเดินข้ามจัตุรัสอันกว้างใหญ่ที่ถูกล้อมรอบด้วยแนวเสาหินที่ออกแบบโดยสถาปนิกและประติมากร ผู้เลื่องชื่อ นามว่า จีอัน ลอเรนโซ แบร์นินี (Gian Lorenzo Bernini) แนวเสาหินทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นแขนทั้งสองข้าง ที่กางออก เป็นภาพของพระศาสนจักร มารดาของเรา ที่โอบกอด บรรดาลูกๆ ของเธอทุกคน ในปีศักดิ์สิทธิ์แห่งความหวัง ที่กำลังจะมาถึงนี้ พ่อขอเชิญชวนพวกลูกให้มาสัมผัสประสบการณ์แห่งการโอบกอดของพระเจ้าผู้ทรงเมตตา สัมผัสกับ การยกโทษและการให้อภัย “หนี้ภายใน” ทั้งหมดของเราตามธรรมประเพณีแห่งปีศักดิ์สิทธิ์ในพระคัมภีร์ ด้วยวิธีนี้ เมื่อเราได้รับการโอบกอดจากพระเจ้าและเกิดใหม่ในพระองค์ ลูก ๆ ก็สามารถเป็นอ้อมแขนที่เปิดกว้างเพื่อโอบกอดเพื่อนฝูงและคนรอบข้างมากมายที่ต้องการรู้สึกถึงความรักจากพระเจ้าผู้เป็นบิดา ผ่านการต้อนรับของลูก ขอให้แต่ละคนมอบเพียง “รอยยิ้ม ท่าทีของมิตรภาพที่อบอุ่น สายตาอันอ่อนโยน การรับฟังที่เต็มใจ กระทำสิ่งดี โดยตระหนักว่าอาศัยพระจิตของพระเยซู สิ่งเหล่านี้สามารถกลายเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังอันอุดมสมบูรณ์สำหรับผู้ที่ได้รับ” (Spes Non Confundit, ข้อ 18) ดังนั้น เราจะกลายเป็นผู้แพร่ธรรม แห่งความสุขที่ไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย และขอให้พวกท่านกลายเป็นมิชชันนารีผู้เผยแผ่ความยินดีที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ในขณะที่เราก้าวไปข้างหน้า ขอให้เรายกสายตาขึ้นด้วยความเชื่อไปยังนักบุญที่ได้เดินนำหน้าเราในเส้นทางนี้ ผู้ที่ได้บรรลุเป้าหมายแล้วและขณะนี้กำลังให้กำลังใจเราโดยการเป็นพยานของพวกเขาว่า “ข้าพเจ้าต่อสู้มาอย่างดี วิ่งมาถึงเส้นชัยและรักษาความเชื่อไว้แล้ว ยังเหลืออยู่เพียงมงกุฎแห่งความชอบธรรม ซึ่งองค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงพิพากษาอย่างเที่ยงธรรม จะประทานให้ข้าพเจ้าในวันนั้น และไม่ใช่เพียงให้ข้าพเจ้าเท่านั้น แต่จะประทานให้ทุกคนที่มีความรัก เฝ้าคอยการสำแดงพระองค์ด้วยเช่นเดียวกัน” (2ทธ 4:7-8) ตัวอย่างของบรรดานักบุญทั้งชายและหญิง ซึ่งเป็นแรงผลักดันและค้ำจุนเรา
จงมีความกล้าหาญ! ทุกคนมีสถานที่พิเศษในใจของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอฝากการเดินทางของท่านไว้กับพระมารดาพรหมจารีย์ เพื่อว่าท่านจะได้สามารถมองไปข้างหน้าอย่างอดทนและมั่นใจต่อการบรรลุความหวังทั้งหมดของท่าน โดยเริ่มตั้งแต่บัดนี้ ในขณะที่ท่านยังคงมุ่งมั่นในการเดินทางในฐานะผู้จาริกแห่งความหวังและความรัก
กรุงโรม, ณ มหาวิหารนักบุญยอห์น แห่งลาเตรัน, วันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 2024, ระลึกถึงการเป็นมรณสักขีของนักบุญยอห์น ผู้ประกอบพิธีล้าง
ฟรังซิส
ผู้แปล คุณพ่อดลฐิศักดิ์ ฉัตรบรรยงค์
พิสูจน์อักษร คุณชลธวัฒน์ วาโน