Life Traveller

ศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 6

โดย วรินทร เหมะ | 3 นาที

หัวใจของศาสนสัมพันธ์

เขียนโดย วรินทร เหมะ

หัวใจสำคัญของศาสนสัมพันธ์ คือ เคารพรัก (Love and Respect) 

เคารพ หมายถึงการปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างดีตามกติกามารยาท ประเพณี วัฒนธรรม ตามหลักมนุษยสัมพันธ์ เคารพในความเป็นบุคคล ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ด้วยกาย วาจาและใจ

รัก หมายถึง ปรารถนาดีถึงเขา หวังดี ไม่ทำให้เสียใจ ขัดใจ 

เบื้องหลังของความรักนั้นมาจากพระคัมภีร์ ในพันธสัญญาเก่า : เรารักเพราะเชื่อว่าทุกคนมาจากพระเจ้า พระบิดาเดียวกัน จึงเป็นครอบครัวเดียวกัน เรารักเพราะมีบัญญัติให้รักผู้อื่นเหมือนรักตนเอง ในพันธสัญญาใหม่ : เรารักเพราะพระเยซูเจ้าสั่งให้เรารักเพื่อนมนุษย์ ซึ่งพระองค์ทรงรักเรา พระองค์สั่งให้เรารักโดยให้อภัยเสมอ ดังนั้นการตัดสินใจตามหลักความรักจึงเป็นหัวใจของศาสนา

นี่คือหลักที่สั้นที่สุดที่จะประยุกต์ใช้ได้ในชีวิตประจำวัน  เพราะเหตุการณ์บางครั้งในชีวิตจริง มีเวลาและข้อมูลจำกัด ไม่สามารถศึกษาหาความรู้เพื่อการวินิจฉัยตัดสินว่าควรจำทำอย่างไรจึงจะถูกต้องในเหตุการณ์นั้น ๆ จึงจำเป็นต้องมีหลักการเพื่อช่วยการตัดสินใจ 

กรณีตัวอย่าง ในด้านวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของศาสนาต่างๆ 

เราต้องรู้จักเคารพในวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของแต่ละศาสนา และควรรู้ว่า แต่ละศาสนารับประทานอาหารอะไรได้บ้าง เพื่อที่จะได้ไม่เปิดโอกาสให้กระทำผิดต่อความเชื่อของกันและกัน และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี โดยในที่นี้ ขอยกกรณีตัวอย่างจาก 4 ศาสนา ที่ต้องทำความเข้าใจในวัฒนธรรมของการรับประทานอาหารที่ควรรู้มีดังต่อไปนี้

ศาสนาอิสลาม 

บทบัญญัติของศาสนาอิสลามเกี่ยวกับอาหารฮาลาล

สิ่งที่อนุญาตให้รับประทาน สำหรับสิ่งที่อนุญาตให้รับประทานตามบทบัญญัติทางศาสนาอิสลามอาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม  คือ  สัตว์  พืช  และ เครื่องดื่ม 

ในส่วนของสัตว์  มีการระบุว่า   เนื้อสัตว์ทุกชนิดที่ชาวอาหรับเห็นว่ารับประทานได้ในยามปกติสุข และในยุคของท่านบรมศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) มีการรับประทาน   ถือว่าสิ่งนั้นศาสนาอนุญาตให้รับประทานได้  ซึ่งสามารถจำแนกได้ดังนี้คือ 

1. สัตว์น้ำทุกชนิด (สัตว์ที่ไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้บนบก) สามารถรับประทานได้

2.   สัตว์ที่มีบทบัญญัติให้รับประทานได้และผ่านการเชือดอย่างถูกต้องตามหลักศาสนา 

3.  ห้ามรับประทานสัตว์ที่มีบทบัญญัติห้ามรับประทาน เช่น ล่อ ลา

4.   ห้ามรับประทานสัตว์ที่ไม่อนุญาตให้ฆ่า เช่น มด ผึ้ง นกหัวขวาน

5. ห้ามรับประทานสัตว์ที่เห็นว่าสกปรกหรือน่ารังเกียจ ได้แก่ สัตว์เลื้อยคลาน  โดยยกเว้นสัตว์ที่มีระบุได้ว่าอนุญาตให้รับประทานได้ เช่น จิงโจ้ แย้ ซัมมูร (สัตว์รูปร่างคล้ายแมว) วับร์ (สัตว์ชนิดหนึ่งตัวเล็กกว่าแมว เบ้าตามีสีดำไม่มีหาง)  อิบนุอัรส์ (สัตว์ชนิดหนึ่งตัวเล็ก เป็นศัตรูกับหนู สามารถจับหนูออกจากรูได้) สามารถรับประทานได้

6.  ห้ามรับประทานสัตว์ที่มีเขี้ยวงา แข็งแรง และสามารถใช้เขี้ยวงาทำร้ายสัตว์อื่นได้ เช่น สุนัข สุกร หมาป่า หมี แมว เสือ และ ลิง เป็นต้น รวมทั้งนกทุกชนิดที่มีกรงเล็บที่แข็งแรง โดยสามารถใช้กรงเล็บนั้นทำร้ายสัตว์อื่นได้ เช่น เหยี่ยวชนิดต่างๆ นกอินทรีย์ เป็นต้น

7. ห้ามรับประทานสัตว์มีพิษ สัตว์นำโรค เช่น ตะขาบ หนู เป็นต้น 

8. ห้ามรับประทานสัตว์ที่ปรากฏชัดว่าเป็นอันตราย เช่น งู แมงป่อง เป็นต้น

9. ห้ามรับประทานซากสัตว์ ไม่ว่าจะตายด้วยสาเหตุใดก็ตาม โดยซากสัตว์จะหมายถึง สัตว์ที่เสียชีวิตโดยไม่ได้ถูกทำการเชือดอย่างถูกต้องตามบทบัญญัติของศาสนา  ไม่ว่าจะเสียชีวิตเองหรือตายด้วยการกระทำของผู้อื่นหรือสัตว์อื่น  ทั้งนี้มีข้อยกเว้นสำหรับปลา และ ตั๊กแตนที่ตาย    ซึ่งศาสนาอนุญาตให้รับประทานได้ เพราะได้รับการยกเว้นจากการเป็นซากสัตว์ที่ห้ามรับประทาน

10. ห้ามรับประทานเลือดสัตว์ทุกชนิด ยกเว้น ตับและม้าม ถือเป็นเลือดที่ศาสนาอนุญาตให้รับประทานได้   (ในสมัยก่อนเข้าใจว่าตับและม้าม คือ ก้อนเลือด)

ในส่วนของพืชนั้น ไม่มีรายละเอียดอื่นๆ ระบุไว้นอกจาก ห้ามรับประทานพืชที่มีพิษและมีอันตราย

ในส่วนของเครื่องดื่ม มีการระบุรายละเอียดของสิ่งที่ห้ามรับประทานดังนี้

1.  สิ่งที่เป็นอันตราย เช่น ยาพิษ เพราะเป็นสิ่งที่ทำลายร่างกาย

2.  สิ่งที่เป็นสิ่งสกปรก เช่น เลือด ปัสสาวะ หรือ นมจากสัตว์ที่ห้ามรับประทานเนื้อของสัตว์เหล่านั้น

3.  สิ่งที่ทำให้มึนเมา หรือ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผสมอยู่

(สำหรับวัตถุเจือปนอาหารต่าง ๆ  หากเป็นสิ่งที่ผลิตจากหรือมีส่วนผสมของสิ่งที่เป็นฮารอมดังกล่าวข้างต้นให้ถือว่าเป็นฮารอม   หากเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นฮาลาลหรือฮารอม ต้องทำการพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อน ตัวอย่างของวัตถุเจือปนอาหารที่เป็นฮาลาล และเป็นมัสบุฮหรือซุบฮัต แสดงในภาคผนวก ค)

ศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู

อาหารที่รับประทาน  คือ อาหารมังสวิรัติ ผัก ผลไม้ เพราะชาวฮินดูเชื่อในหลักอหิงสา ที่หมายความว่าไม่ทำลายหรือทำร้ายสิ่งที่มีชีวิต 

พราหมณ์-ฮินดู รับประทานอาหารมังสวิรัติ ผัก ผลไม้

ศาสนาศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นั้นค่อนข้างเป็นศาสนาที่ซับซ้อน การนับถือเทพหลายองค์ทำให้ความเชื่อนั้น ต่างกันออกไปตามเทพองค์นั้นๆ แต่ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ การแบ่งวรรณะของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ จึงนำมาเกี่ยวเนื่องกับเรื่องอาหารด้วย

อาหารของชาวฮินดู

1. นมวัวถือเป็นอาหารศักดิ์สิทธิ์ใช้ทั้งดื่มและประกอบพิธีทางศาสนา

2. ชาวฮินดูผู้นับถือคัมภีร์พระเวทเชื่อว่า อาหารจะ”บริสุทธิ์”ก็ต่อเมื่อปรุงด้วย ฆี/กี (เนยใส)

3. อาหารมังสวิรัติของคุชราตกับเบงกอลนั้นจะไม่ใส่กระเทียม ขิง หอม และเครื่องเทศที่เสริม”ความร้อน” เพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนา

4. ชาวฮินดู ถือว่าโค เป็นพาหนะของพระศิวะ ดังนั้นการฆ่าโค (วัว) ถือเป็นบาปหนัก จึงส่งผลให้ชาวฮินดูไม่กินเนื้อวัว

5. การกินในต่างวรรณะ เช่น คนวรรณะสูงกว่า ห้ามกินอาหารจากคนที่มีวรรณะต่ำกว่าเป็นผู้ปรุง

ศาสนาซิกข์

สมาคมศรีคุรุสิงห์สภา 

อาหารที่รับประทานคือ อาหารมังสวิรัติ ไม่กินเนื้อสัตว์ และไม่นำเนื้อสัตว์เข้าไปในเขตคุรุดวาราสมาคมศรีคุรุสิงห์สภา (วัดซิกข์) แต่หากมีเหตุจำเป็นเมื่ออยู่ภายนอกวัดไม่มีอาหารมังสวิรัติให้รับประทานจริงๆจึงจะสามารถรับประทานเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งความเป็นจริงหากหลีกเลี่ยงได้ไม่ควรรับประทานไม่ควรทำ 

สมาคมนามธารีสังคัตแห่งประเทศไทย

อาหารที่รับประทาน คือ อาหารมังสวิรัติที่ไม่เบียดเบียนกับจิตวิญญาณผู้อื่นไม่รับประทานไข่ ดังนั้นมังสวิรัติของนามธารีนั้นจะไม่ผ่านการฆ่าไม่ว่าด้วยวิธีการใด แต่สาเหตุที่รับประทานพืชผักเป็นอาหารนั้น เพราะเราเชื่อว่าพืชพรรณธัญญาหารเป็นอาหารของสัตว์โลก มีจิตวิญญาณแต่สนองตอบต่อความรู้สึกเจ็บปวดน้อยที่สุด และเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวที่ยิ่งถูกนำมาเป็นอาหารมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแพร่ขยายพันธุ์ไปมากเท่านั้น ส่วนน้ำที่ใช้ดื่มจะเป็นน้ำบริสุทธิ์ที่มาจากธรรมชาติเช่นน้ำฝน ใช้ในการอาบน้ำ และปรุงอาหารจากธรรมชาติเท่านั้น สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์จากนมนั้นสามารถรับประทานได้ทุกประเภท

มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย

อาหารที่รับประทานได้และรับประทานไม่ได้  ตามพระธรรมเลวีนิติบทที่ 11

หลักการโดยสรุป

1. อาหารประเภทสัตว์บก

1.1. สัตว์ 4 เท้า    

อนุโลมให้รับประทานสัตว์ที่แยกกีบ มีกีบผ่า และเคี้ยวเอื้อง ได้ (แต่ห้ามรับประทานเลือดของมัน)   “จงกล่าวแก่คนอิสราเอลว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ที่ถูกแยกจากบรรดาสัตว์อื่นที่อยู่ในโลก เจ้าทั้งหลายรับประทานได้คือ บรรดาสัตว์ที่แยกกีบ มีกีบผ่า และเคี้ยวเอื้องด้วย เจ้ารับประทานได้  ตัวอย่างสัตว์ที่สะอาด: โค (เนื้อวัว เนื้อลูกวัว), แกะ, ละมั่ง, ควาย (กระทิง), แคริบู, กวาง, ยีราฟ, แพะ,กวางมูซ, กวางเรนเดียร์, ผลิตภัณฑ์นมเนยและชีสของพวกมัน

ห้ามรับประทานสัตว์ต่อไปนี้ที่เคี้ยวเอื้องหรือแยกกีบอย่างเดียวคือ อูฐ เพราะมันเคี้ยวเอื้องแต่ไม่แยกกีบ เป็นสัตว์ที่เป็นมลทินสำหรับเจ้า (เลวีนิติ 11:2-4)  และห้ามรับประทานสัตว์ที่กินเนื้อสัตว์อื่นๆ เป็นอาหาร ทุกประเภทตามชนิดของมันตามหลักพระคัมภีร์ อาทิเช่น ตัวอย่างสัตว์ที่ไม่สะอาด: สุกร (หมูป่าหรือสัตว์จำพวกหมูและผลิตภัณฑ์ของพวกมัน ได้แก่ เบคอน แฮม น้ำมันหมู), สุนัข, สุนัขจิ้งจอก, หมาใน, หมาป่า, แมว, เสือชีต้า, เสือดาว, สิงโต, เสือดำ, เสือ, ม้า, ลา, ล่อ, ม้าลาย, แบดเจอร์, โคนีย์, กระต่าย, ลิง, โอพอสซัม, เม่น, แรคคูน, กระรอก, หมี, อูฐ, ช้าง, กอริลลา, ฮิปโปโปเตมัส, จิงโจ้, ลามา, แรด, วอลลาบี เป็นต้น

1.2. สัตว์เลี้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ  

ห้ามรับประทานสัตว์เลี้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ทุกประเภทตามชนิดของมัน    อาทิเช่น  สัตว์เลื้อยคลานที่ไม่สะอาดอื่น ๆ : สัตว์เลื้อยคลาน (จระเข้, จิ้งจก, งู, เต่า) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กบ, นิวท์, ซาลาแมนเดอร์, คางคก) อื่น ๆ (ชะมด, ตุ่น, หนู, หอยทาก, บุ้ง, พังพอน)  เป็นต้น

1.3. สัตว์ปีก 

อนุโลมให้รับประทานสัตว์ปีกที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ประเภทอื่นเป็นอาหาร  เช่น  ไก่, นกพิราบ, เป็ดห่าน, ไก่ตะเภา, นกกระทา, นกยูง, ไก่ฟ้า, นกพิราบ, นกกระจอก, นกกระทา, ไก่งวง และไข่ของพวกมัน

ห้ามรับประทานสัตว์ปีกที่ทานสัตว์ประเภทอื่นๆ เป็นอาหารและกินตัวหนอนเป็นอาหารทุกประเภทตามชนิดของมัน  อาทิเช่น  อัลบาทรอส, ค้างคาว, บิตเทิร์น, อีแร้ง, แร้ง, นกกาน้ำ, เครน, อีกา, นกกาเหว่า, นกอินทรี, นกกระเรียน, นางนวล, เหยี่ยว, นกกระสา, นกกระจอกเทศ, นกฮูก, นกกระทุง, นกเพนกวิน, นกพิราบ, กา, นกกระสา, นกหัวขวาน(เลวีนิติ 11:13-19)  เป็นต้น

2. อาหารประเภทสัตว์น้ำ

อนุโลมให้รับประทานสัตว์เหล่านี้ที่ถูกแยกจากสัตว์ที่อยู่ในน้ำทั้งหมด เจ้ารับประทานได้ คือ ทุกสิ่งซึ่งอยู่ในน้ำซึ่งมีครีบและมีเกล็ด ไม่ว่าจะอยู่ในทะเลหรือในแม่น้ำก็ตาม เจ้ารับประทานได้ แต่ทุกสิ่งที่อยู่ในน้ำทะเลหรือแม่น้ำ ซึ่งไม่มีครีบและเกล็ด จะเป็นสัตว์ที่เคลื่อนที่ติดพื้น หรือสัตว์อื่นที่มีชีวิตในน้ำ เป็นสัตว์ที่พึงรังเกียจสำหรับเจ้า ให้คงเป็นสัตว์ที่พึงรังเกียจสำหรับเจ้า ห้ามรับประทานเนื้อของมัน และจงรังเกียจซากของมัน ทุกสิ่งที่อยู่ในน้ำซึ่งไม่มีครีบและเกล็ด เป็นสิ่งพึงรังเกียจสำหรับเจ้า (เลวีนิติ 11:9-12)

ห้ามรับประทานสัตว์ที่ไม่สะอาด: ปลาไม่มีเกล็ด  อาทิเช่น  (ปลาดุก, ปลาไหล, ปลาฉลาม, ปลาสเตอร์เจียน, ปลาเทอร์บอท), หอย, เป๋าฮื้อ, ปู, กั้ง, กุ้งก้ามกราม, หอยแมลงภู่, กุ้ง, หอยนางรม, หอยเชลล์, ปลาหมึก, แมงกะพรุน, สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล (ปลาโลมา, นาก, แมวน้ำ, วอลรัส, วาฬ)  เป็นต้น

3. ประเภทแมลง

อนุโลมให้รับประทานแมลงมีปีกที่คลานสี่ขานี้ เจ้าจะรับประทานจำพวกที่มีขาพับใช้กระโดดไปบนดินได้ (เลวีนิติ 11:20-21)  เช่น  จิ้งหรีดและตั๊กแตน แมลงบางชนิดในตระกูลตั๊กแตน

ห้ามรับประทานแมลงมีปีกซึ่งคลานสี่ขา ทุกชนิดตามชนิดของมัน (เลวีนิติ 11:20-21) 

4. อาหารประเภทผัก ผลไม้

ให้รับประทานผักและผลไม้ทุกประเภทตามชนิดที่พระเจ้าอนุญาตให้ทานตามหลักพระคัมภีร์ (ปฐมกาล 2:16)

ข้อสังเกต

คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีส  เน้นให้รับประทานอาหารอาหารมังสวิรัติเป็นหลัก เพื่อรักษาสุขภาพซึ่งเป็นพระวิหารของพระเจ้า (1 โครินธ์ 3:16-17)

ทั้งนี้ คริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสได้ยึดปฏิบัติตามหลักการของพระคริสตธรรมคัมภีร์ทั้ง 66 เล่ม  ตั้งแต่ปฐมกาลจนถึงวิวรณ์