ศาสนสัมพันธ์ ตอนที่ 2
ศาสนสัมพันธ์กับความหลากหลาย
ปัญหาและอุปสรรคในการทำงานทุกคนล้วนมีอยู่แล้ว โดยเฉพาะกับงานศาสนสัมพันธ์ ปกติเราจะรู้จักแต่ตัวของเรา ศาสนาของเรา แต่นี่เราต้องทำความรู้จักกับผู้ร่วมงานของเราที่มีทั้ง 5 ศาสนา รู้หรือไม่ว่าศาสนาในประเทศไทยที่กรมการศาสนารับรองมีศาสนาอะไรบ้าง?
ศาสนา 5 ศาสนา ประกอบไปด้วย ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาซิกข์ นี่คือศาสนาที่กรมการศาสนารับรอง
แล้วศาสนาคริสต์ละมีแค่เราที่เป็นคาทอลิกหรือไม่? คำตอบคือ ศาสนาคริสต์ที่กรมการศาสนารับรอง มี 5 องค์การประกอบด้วย
1.สภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย (ทางการ) หรือ สภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ที่เราอาจจะคุ้นชินอย่างหลังมากกว่า
2.สภาคริสตจักรในประเทศไทย
3.สหกิจคริสเตียนแห่งประเทศไทย
4.สหคริสตจักรแบ๊บติสต์ในประเทศไทย
5.มูลนิธิคริสตจักรเซเว่นธ์เดย์แอ๊ดเวนตีสแห่งประเทศไทย
เริ่มเยอะขึ้นใช่ไหมละ! อย่าพึ่งตกใจ เพราะการที่เราจะเริ่มต้นทำสิ่งใดก็ตาม เราจะต้องเปิดใจของเราให้กว้าง ไม่มีอคติ มองเขาคือครอบครัวของเรา เมื่อเราคิดได้เช่นนั้น จงก้าวออกจากตัวเอง แล้วไปเรียนรู้จักพวกเขากันเถอะ
สิ่งที่เราควรรู้ในการทำศาสนสัมพันธ์ คือเราจะต้องเข้าใจถึงหลักการในแง่มุมของศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกก่อน ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. ปฏิบัติกิจในความรักของพระเจ้า คริสตชนมีความเชื่อว่าพระเจ้าคือบ่อเกิดแห่งความรักทั้งปวง เมื่อเป็นเช่นนั้นในการเป็นประจักษ์พยานพวกเขาถูกเรียกร้องให้ต้องดำเนินชีวิตแห่งความรักและให้รักเพื่อนบ้านดุจรักตนเอง (เทียบ มธ. 22: 34-40; ยน. 14: 15)
2. เลียนแบบพระเยซูคริสตเจ้า ในทุกมิติแห่งชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเป็นประจักษ์พยาน คริสตชนถูกเรียกร้องให้เจริญรอยตามแบบฉบับและคำสอนของพระเยซูคริสตเจ้า แบ่งปันความรักของพระองค์ ถวายพระพรและพระเกียรติแด่พระเจ้าพระบิดาด้วยพระเดชานุภาพของพระจิต (เทียบ ยน. 20: 21-23)
3. ฤทธิ์กุศลของคริสตชน คริสตชนถูกเรียกร้องให้ประพฤติตนอย่างมีเกียรติ มีความรักเมตตา มีความเห็นอกเห็นใจและมีความสุภาพ เอาชนะการโอ้อวด ไม่เหยียดหยามผู้ที่ต่ำกว่า ไม่มองว่าผู้อื่นไม่มีความสำคัญ (เทียบ กท. 5: 22)
4. รับใช้และดำรงอยู่ในความยุติธรรม คริสตชนถูกเรียกร้องให้กระทำการด้วยความยุติธรรมและให้รักผู้อื่นด้วยความอ่อนโยน (เทียบ มก. 6: 8) พวกเขายังถูกเรียกร้องให้รับใช้ผู้อื่น และในกระทำดังกล่าวให้ตระหนักด้วยว่าพระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ในบรรดาพี่น้องชายหญิงเหล่านั้น (เทียบ มธ. 25: 45) ส่วนการรับใช้ เช่น ให้การศึกษา ดูแลสุขภาพ ช่วยเหลือบรรเทาภัย การกระทำที่ยุติธรรม และการเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ที่ไม่มีปากมีเสียงล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งแห่งองค์รวมของการเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสารทั้งสิ้น การฉวยโอกาสเอารัดเอาเปรียบจากคนยากจนและผู้ที่เดือดร้อนไม่มีที่ยืนในการปฏิบัติของคริสตชนต่อผู้อื่น คริสตชนควรที่จะประณามและละเว้นจากการหลอกลวงทุกชนิด รวมถึงการให้สินบนหรือสิ่งตอบแทนใดๆในการรับใช้ของพวกเขา
5. ระมัดระวังในพันธกิจแห่งการเยียวยารักษา ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของการเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร คริสตชนก็ปฏิบัติพันธกิจแห่งการเยียวยารักษาด้วย พวกเขาถูกเรียกร้องให้ใช้ความระมัดระวังในขณะที่พวกเขาทำพันธกิจนี้ โดยให้ความเคารพอย่างที่สุดกับศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และต้องแน่ใจว่าจะต้องไม่ไปกระทบกระทั่งหรือเอาเปรียบประชาชนที่ต้องการการเยียวยารักษา
6. ปฏิเสธการใช้ความรุนแรง คริสตชนถูกเรียกร้องให้ปฏิเสธการใช้ความรุนแรงทุกชนิด ในการเป็นประจักษ์พยาน ไม่ว่าจะเป็นด้านจิตวิทยา ด้านสังคม หรือการใช้อำนาจไปในทางมิชอบ พวกเขาถูกเรียกร้องไม่ให้ใช้ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ หรือการกดขี่ข่มเหงจากผู้มีอำนาจไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม รวมถึงห้ามละเมิดหรือทำลายสถานที่นมัสการ สัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์ หรือพระธรรมคัมภีร์ของศาสนาอื่น
7. เสรีภาพในการเชื่อและการนับถือศาสนา เสรีภาพในการนับถือศาสนารวมถึงสิทธิในการแสดงความเชื่อ การปฏิบัติ การเผยแพร่ และการเปลี่ยนศาสนาเกิดจากศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งมีพื้นฐานอยู่บนการสร้างมนุษย์ขึ้นมาตามพระฉายาและความละม้ายคล้ายกับพระเจ้า (เทียบ ปฐก. 1: 26) ดังนั้นมนุษย์ทุกคนจึงมีสิทธิและความรับผิดชอบเท่าเทียมกัน เมื่อศาสนาใดถูกนำเอาไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือของลัทธิการเมือง หรือเมื่อมีการเบียดเบียนศาสนา คริสตชนถูกเรียกร้องให้ต้องดำเนินชีวิตเป็นประจักษ์พยานแห่งประกาศกในการปฏิเสธการกระทำดังกล่าว
8. ให้ความเคารพและมีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน คริสตชนถูกเรียกร้องให้ปวารณาตนเองที่จะทำงานร่วมกันกับผู้อื่นโดยให้ความเคารพแก่กันและกัน ส่งเสริมความยุติธรรม สันติ และความดีส่วนรวมด้วยกัน ความร่วมมือกันระหว่างศาสนิกชนที่นับถือศาสนาแตกต่างเป็นมิติสำคัญยิ่งสำหรับหน้าที่ของแต่ละคน
9. เคารพทุกคน คริสตชนทราบดีว่าพระวรสารนั้นทั้งท้าทายและทำให้วัฒนธรรมมีความมั่งคั่งขึ้น แม้พระวรสารจะท้าทายบางมิติของวัฒนธรรม คริสตชนก็ยังถูกเรียกร้องให้มีความเคารพต่อผู้อื่น นอกนั้นคริสตชนยังถูกเรียกร้องให้ไตร่ตรององค์ประกอบต่าง ๆ แห่งวัฒนธรรมของตนที่ได้รับการปรับเปลี่ยนโดยพระวรสารด้วย
10. ปฏิเสธประจักษ์พยานเท็จ คริสตชนถูกเรียกร้องให้พูดด้วยความจริงใจและให้ความเคารพต่อผู้อื่น พวกเขาต้องตั้งใจฟังเพื่อที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจความเชื่อและการปฏิบัติของผู้อื่น พร้อมที่จะรับรู้และชื่นชมสิ่งที่เป็นความจริงและดีงามในตัวมันเอง หากจะมีการวิภาควิจารณ์ใดๆควรที่จะทำด้วยจิตตารมย์แห่งความเคารพซึ่งกันและกัน โดยมั่นใจว่าตนจะไม่เป็นพยานเท็จเกี่ยวกับศาสนาอื่น
11. ไตร่ตรองเป็นการส่วนตัว คริสตชนถูกเรียกร้องให้ยอมรับว่าการเปลี่ยนศาสนาของแต่ละคนเป็นขั้นตอนที่ต้องตัดสินใจเด็ดขาด ต้องเกิดขึ้นหลังจากใช้เวลานานพอสมควรในการไตร่ตรองและการเตรียมตัวโดยอาศัยกระบวนการที่เป็นอิสระอย่างเต็มที่
12. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างศาสนา คริสตชนควรที่จะสร้างความสัมพันธ์ในการให้ความเคารพและความไว้วางใจกับศาสนิกชนของศาสนาอื่น เพื่อที่จะสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน การคืนดีกัน และการร่วมมือกันเพื่อความดีส่วนรวมให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น
ความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม สิ่งต่างๆที่อยู่รอบตัวเราจะไม่เป็นปัญหาและอุปสรรคเลย หากเรารู้และเข้าใจหลักปฏิบัติในการอยู่ร่วมกัน เรียนรู้ที่จะรักและให้อภัย มีความกล้าที่ทำความรู้จัก ให้ความเป็นมิตรมากกว่าการเป็นศัตรู โดยนำหลักศาสนสัมพันธ์มาใช้อย่างเข้าใจในความเป็นเราและเขา ความสุขสันติก็จะเกิดขึ้นในสังคมอย่างแน่นอน
วรินทร เหมะ